fbpx

วัดหลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา

วัดโสธร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
ประวัติและความเป็นมาของ วัดหลวงพ่อโสธร 

วัดหลวงพ่อโสธร หรือชื่อทางการ วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมมีชื่อว่า “วัดหงส์” มีหลักฐาน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยมีประวัติที่เล่าสืบทอดกันมายาวนาน และเมื่อเวลาผ่านไป แม่น้ำบางปะกงไหลกัดเซาะตลิ่งพังลงมา วัดหงส์จึงหมดไป จึงมีการสร้างวัดขึ้นใหม่ 

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวแปดริ้ว และคนต่างบ้านต่างเมืองมาแต่อดีตกาล ตั้งอยู่บนถนนสายมรุพงษ์ ห่างจากตลาดกลางเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดนี้แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ตามประวัตินั้นแต่แรกมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมี “เสาหงส์” อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา ต่อมาหงส์บนยอดเสาหักตกลงมาเหลือแต่เสา และมีผู้เอาธงขึ้นไปแขวนแทน จึงได้ชื่อว่า “วัดเสาธง” ครั้นเมื่อเสาธงหักเป็นสองท่อน จึงเรียกชื่อใหม่ว่า “วัดเสาธงทอน” ส่วนชื่อ “วัดโสธร” อันมีความหมายว่า “บริสุทธิ์” และ “ศักดิ์สิทธิ์” นั้น เรียกตามพระนามของ พระพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร ซึ่งได้มาประดิษฐานในวัดนี้
.
ในภายหลังวัดโสธรได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีนามว่า “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2501

วัดหลวงพ่อโสธร

ความจริงวัดโสธรแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีใด ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่นอน เพียงแต่ทราบว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เท่านั้นเอง แล้วก็สร้างในสมัยเดียวกับหลวงพ่อบ้านแหลม ที่แม่กลองหรือสมุทรสงคราม ที่มีผู้คนบูชากราบไหว้ เพราะความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน
.


 

ประวัติพระอุโบสถหลวงพ่อโสธร หลังใหม่

วัดหลวงพ่อโสธร

เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัด มีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ ซึ่งหลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ทรงมีพระราชปรารภ เรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม ซึ่งพระจริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์ (หลวงพ่อเจียม) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาค เพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่

วัดหลวงพ่อโสธร

.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์
.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 นับเป็นที่ปลื้มปิติของชาวฉะเชิงเทรา อย่างหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นเงินบริจาคจากประชาชนทั้งหมด ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ประการใด

วัดหลวงพ่อโสธร

.

วัดหลวงพ่อโสธร.

การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ เป็นงานที่มีความท้าทายเชิงวิศวกรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากตำแหน่งที่ประดิษฐานขององค์พระนั้น เป็นตำแหน่งที่มีความเชื่อว่า เป็นตำแหน่งที่ทำให้บ้านเมืองฉะเชิงเทราเจริญรุ่งเรือง จึงมีข้อจำกัดในการก่อสร้างที่ว่า การก่อสร้างนี้จะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ แม้แต่กระเบียดเดียว ทั้งทางราบ และทางดิ่ง (หมายถึงว่าจะยกขึ้นลงก็ไม่ได้) โดยต้องสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กครอบฐานชุกชี ติดตั้งเครื่องระบายอากาศ มีเครื่องวัดความชื้น และติดตั้งเครื่องวัด และควบคุมอุณหภูมิและความชื้น

วัดหลวงพ่อโสธร

.

ในส่วนของศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ นับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดาน จะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และโดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ เหนือมณฑปพระอุโบสถ และภาพของจักรวาลบนเพดานจะเป็นภาพเขียนประดับโมเสกสี จึงเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุด

.

ภาพภายนอกวิหาร พระอุโบสถหลังใหม่

วัดหลวงพ่อโสธร

วัดหลวงพ่อโสธร

.

ในการไปนมัสการหลวงพ่อโสธรนั้น จะแบ่งเป็น พระอุโบสถ 2 หลัง คือ พระอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งจะประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริงไว้ และ พระอุโบสถที่อยู่ข้างๆ เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อโสธรจำลอง

.

ซึ่งในการแก้บนต่างๆ ให้ไปใช้สถานที่คือ พระอุโบสถ หลวงพ่อโสธรจำลอง เพราะในโบสถ์ที่ประดิษฐานองค์จริงนั้น ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนด้านใน แต่อนุญาตให้ประชาชนได้เข้าไปกราบไหว้ได้

.

รูปภาพภายในอุโบสถใหม่ ที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธร องค์จริง

วัดหลวงพ่อโสธร

.

ปัจจุบัน วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000 จัดเป็น พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สามารถเข้าสักการะองค์หลวงพ่อโสธรได้ทุกวัน

.

บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดโสธรฯ มีบริการร้านค้าจำหน่ายอาหาร และสินค้าของที่ระลึกจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง สามารถหาซื้อของฝากหรือของกินเล่นได้ โดยเฉพาะขนมใบจาก เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างมาก
.
เปิดให้นมัสการทุกวัน
วันธรรมดาเวลา 07.00–16.15น.
วันหยุดเวลา 08.00–16.30น.

ข้อควรรู้ :
– การเข้านมัสการหลวงพ่อโสธรที่โบสถ์ใหม่นั้น ขอความกรุณาแต่งกายสุภาพ
– กางเกงหรือกระโปรงควรมีความยาวเลยเข่า, เสื้อไม่บาง, เอวไม่ลอย, งดเสื้อสายเดี่ยวแขนกุดทุดชนิด
– สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร  โทร. 038-511048, 038-511449

.


ประวัติหลวงพ่อโสธร

วัดหลวงพ่อโสธร

เรื่องเล่าสามพี่น้อง

ประวัติเกี่ยวกับหลวงพ่อโสธร มีเรื่องราวที่เล่าขานกันมานาน เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพระพุทธรูปลอยน้ำมา 3 องค์ ที่แม่น้ำบางปะกง พอมาถึงบริเวณสถานที่แห่งหนึ่ง มีชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมา จึงช่วยกันอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง ด้วยการเอาเรือออกไปอัญเชิญช่วยกันยกขึ้นเรือ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะยกเอาขึ้นมาไม่ไหว จึงเปลี่ยนวิธีการเป็นเอาเชือกเส้นใหญ่ ไปคล้ององค์พระทั้ง 3 องค์อย่างแน่นหนา แล้วช่วยกันชักลากขึ้นมาบนฝั่ง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจของชาวบ้านในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เพราะทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ชาวบ้านพยายามลองอยู่หลายครั้ง หลายวิธีก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเชือกขาดรั้งเอาไว้ไม่อยู่ ประกอบกับ กระแสน้ำเกิดปาฏิหาริย์ปั่นป่วนขึ้นมา เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทำให้พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์จมหายไป ท่ามกลาง ความเสียดายของผู้คน ซึ่งเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน ต่างพากันยกมือไหว้ท่วมศีรษะ

บางคนก็พูดว่าไม่มีบุญเพียงพอ ที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ขึ้นมาได้ ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นโจษขานกันต่างๆนานา บ้างก็ว่า เทวดาฟ้าดินไม่โปรด หลวงพ่อก็ไม่ยอมประดิษฐานอยู่บนฝั่ง เรื่องราวโจษขานกันไปมากมายนี้ ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกสถานที่ ที่พระพุทธรูปทั้ง3 องค์ มาสำแดงปาฏิหาริย์ลอยวนทวนน้ำไปมาว่า “สามพระทวน” เรียกกันเรื่อยไปนานเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น “สัมปทวน” กันไปในที่สุด

ตามตำนานเล่าว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ที่ลอยมาในแม่น้ำบางปะกงนั้น องค์หนึ่งลอยไปทางบางพลี ไปผุดขึ้นที่คลองวัดบางพลี ชาวบ้านอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานเอาไว้ที่วัดบางพลีได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ ท่านต้องการจะประดิษฐานอยู่ ณ ที่ตรงนั้นก็เป็นได้ ปัจจุบันคือ หลวงพ่อโต วัดบางพลี สมุทรปราการ

อีกองค์หนึ่งลอยไปที่บริเวณบ้านแหลม สมุทรสงคราม ชาวบ้านตีอวนได้องค์พระขึ้นมา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ที่วัดบ้านแหลม หรือในปัจจุบันคือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือที่รู้จักกันดีคือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม และอีกองค์หนึ่งผุดขึ้นมาที่แม่น้ำบางปะกง ที่หน้าวัดเสาธงทอนหรือ “วัดโสธรในปัจจุบัน”

พระคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว 
หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว หรือจังหวัดฉะเชิงเทราโดยแท้จริงตลอดมา หลวงพ่อพุทธโสธร หรือหลวงพ่อโสธร หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง1.48 เมตร เท่าที่มองเห็นองค์หลวงพ่อโสธรอยู่ในปัจจุบันนี้

วัดหลวงพ่อโสธร
.

ผู้รู้เล่าว่าองค์จริงของหลวงพ่อพุทธโสธรนั้น เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ที่องค์เล็กกว่าที่เห็นกันอยู่ แต่เนื่องจากหลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่มีรูปลักษณ์งดงามมาก มีผู้เกรงว่าจะเป็นอันตราย อาจจะมีผู้ใจบาปมากระทำไม่ดี จึงจัดการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นใหม่ แล้วเอาองค์จริงของหลวงพ่อโสธรประดิษฐานไว้ข้างใน ไม่ให้ใครเห็นจนบัดนี้

.


ร้านอาหารใกล้วัดโสธร
ร้านเอกเขนก | ร้านชวนมา (อยู่ข้างวัด) | ถึก รูฟท๊อป 
.
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
ตลาดร้อยปีบ้านใหม่ | วัดสมานรัตนาราม | ตลาดร้อยปีคลองสวน | ฟาร์มแอนด์รีสอร์ท
.
ที่พักใกล้วัดโสธร
สัมมนาคารบางปะกงปาร์ค (ใกล้ที่สุด) | โรงแรมวีเวิร์บ | เจเค ลิฟวิ่ง | ฟาร์มแอนด์รีสอร์ท (ห่าง12 กม./ที่พักริมน้ำ)


หน้าแรก | เทียวแปดริ้ว | เที่ยวเชิงเกษตร เที่ยวธรรมชาติตลาดโบราณวัด

One thought on “วัดหลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา

Comments are closed.

%d bloggers like this: