fbpx

พระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสิน

พระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสิน บางคล้า

อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เจดีย์แห่งชัยชนะ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน

ตามประวัติเล่าว่า หลังจากที่พระเจ้าตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทัพผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และปะทะกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์รบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าและได้พักทัพบริเวณนี้ พระองค์จึงสร้างพระเจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ในการสู้รบกับพม่า ต่อมาบริเวณดังกล่าว ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพระเจดีย์พังทลาย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2491

ต่อมามีการสร้างพระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่บริเวณเดิม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสักการะอนุสรณ์ หรือนั่งพักผ่อนชมภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ ซึ่งสามารถมองเห็นเกาะลัดอยู่ฝั่งตรงข้าม


พระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อำเภอบางคล้า มีประวัติการสร้าง เป็นอนุสรณ์สถานเป็นสถานที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมเมืองไว้ ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวบ้านเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ ได้ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตกในปี พ.ศ. 2310 เพื่อไปรวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช ณ เมืองจันทบุรี จึงได้สร้างพระสถูปเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชัยชนะของพระองค์ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แห่งของอำเภอบางคล้า ที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานที่พระองค์ยาตราทัพผ่าน ส่วนอนุสรณ์สถานอีก 2 แห่ง คือ วิหารวัดแจ้ง และวิหารวัดโพธิ์

ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า หลังจากที่พระวชิรปราการตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยาทางตะวันออก ผ่านบ้านพรานนก  ดงละคร  พื้นที่จังหวัดนครนายกเข้ามาเขตปราจีนบุรี  อำเภอบ้านสร้างจนมาถึงบริเวณที่เรียกว่าปากน้ำโจโล้   เพื่อจะมุ่งหน้าไปอำเภอพนัสนิคม  อำเภอพานทอง  และต่อไปยังจังหวัดชลบุรี  หรือเรียกว่าตำบลบางปลาสร้อย  ในวันจันทร์ขึ้น 13 ค่ำ เดือนยี่ ได้เดินทัพเข้าในป่า และหยุดประทับที่หนองน้ำหุงอาหาร

ในสมัยนั้นกองทัพพม่ามีกำลังเหนือกว่า และแม่ทัพพม่าได้ทราบข่าวว่า กองทัพซึ่งยกทัพตามกองทัพของพระยาวชิรปราการ พ่ายแพ้หลายครั้ง จึงเกณฑ์ทัพเรือให้ยกหนุนมาเพิ่มเติม และให้กองทัพบกยกลงมาตั้ง ณ ปากน้ำโจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อรวมกำลังกับกองทัพเรือ ตามตีกองกำลังของพระเจ้าตากสิน โดยใช้เส้นทางน้ำ  โดยผ่านแม่น้ำโยทะกาเข้ามาแม่น้ำบางปะกง เกิดปะทะกองกำลังของพระเจ้าตากสินและสู้รบกันบริเวณพื้นที่ ตำบลปากน้ำโจ้โล้ ในปัจจุบัน  คือตำบลปากน้ำ  

และในวันอังคาร ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ กองทัพพม่า ได้ยกจากปากน้ำโจ้โล้ติดตามกองทัพของไทย พระยาวชิรปราการรู้ตัวว่า กองทัพพม่ายกติดตามมา จึงนำพลทหารร้อยหนึ่งให้ขุดสนามเพลาะเป็นกำบัง คอยซุ่มยิงกองกำลังทหารพม่าที่ยกตามมา ล้มตายเป็นจำนวนมาก พม่าก็แตกพ่าย กระจัดกระจายกันออกไป ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสิน เอาชนะพม่าที่มีกำลังเหนือกว่าได้  เมื่อรบชนะได้สั่งให้ไพร่พลพักทัพ  เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังสถานที่ดังกล่าวข้างต้น ในขณะที่พักทัพอยู่ได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสู้รบกับพม่าจนมีชัยชนะตรงบริเวณปากน้ำโจ้โล้  (คลองท่าลาด)  

ส่วนคำบอกเล่าของชาวบ้านมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบริเวณปากน้ำโจ้โล้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ แต่บริเวณดังกล่าวเป็นแหลมที่มีกระแสน้ำจากคลองท่าลาดไหลบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง  ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะจนบริเวณแหลมปากน้ำที่พระสถูปองค์เดิมที่สร้างขึ้นอยู่พังทลายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2491

ต่อมาได้รับงบประมาณจากกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกองสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมิสซังโรมันคอทอลิกจันทบุรี อนุญาตให้ใช้ที่ดินสร้าง จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 38.4 ตารางวา สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นมาใหม่บริเวณเดิม ตามรูปแบบของกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีซุ้มทั้ง 4 ด้าน โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2539 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

..

ที่ตั้ง
พระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสิน บางคล้า
ตำบล บางคล้า อำเภอบางคล้า ฉะเชิงเทรา 24110
https://goo.gl/maps/oSzyGA6nBw8wEB7J6

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
วัดโพธิ์บางคล้า (ค้างคาวแม่ไก่) | วัดโจ้โล้ (โบสถ์สีทอง) | ตลาดน้ำบางคล้า
 | วัดสมานฯ | คุ้มวิมานดิน | พระพิฆเนศปางยืน | สวนปาล์มฟาร์มนก

%d bloggers like this: