fbpx

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

ตลาดร้อยปี โบราณที่กล่าวถึงแห่งนี้คือ “ตลาดโบราณนครเนื่องเขต” ตั้งอยู่ใน ตำบลเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ตลาดโบราณแห่งนี้ นี้ได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพที่คล้ายของเดิมมากที่สุด เช่น อาคารบ้านเรือน, ห้องแถวไม้, ร้านค้าเก่าแก่ รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งคลอง ที่ทุกวันนี้ยังใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมๆ ให้ได้เห็น แม้จะมีบ้านเรือนบางส่วนที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.

ตลาดร้อยปี ตลาดโบราณนครเนื่องเขต แห่งนี้ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จาก 4 ตระกูลดัง ในพื้นที่ได้แก่ ขุนอนันต์เนื่องเขต (กำนัันคนแรกของ ต.เนื่องเขต), เถ้าแก่หมุย ชัยวัฒน์, เถ้าแก่มั้ว สายวานิณชย์ และเถ้าแก่เง็กเจิ่น หยกอุบล และนอกจาก 4 ตระกูลนี้แล้ว ยังมีหลายตระกูลที่ไม่ได้เอ่ยถึง ซึ่งได้มีบทบาทช่วยกันก่อตั้งตลาดนครเนื่องเขตขึ้นมาเมื่อในอดีต
.
คลองนครเนื่องเขตได้ถูกขุดขึ้นตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีควาคิดกว้างไกลว่าการขุดคลองครั้งนี้ จะช่วยอำนวยประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และช่วยเรื่องเส้นทางการคมนาคมทางน้ำให้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยย่นเวลาการเดินทาง และการค้าขาย ระหว่างเมืองบางกอก และฉะเชิงเทราได้อีกด้วย
.

เมื่อในอดีตตลาดแห่งนี้ ถือว่าเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญมาก ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกตลาดแห่งนี้ว่า “ตลาดสี่แยกท่าไข่” เพราะมีลำคลองมาตัดกันแยกออกไปได้ถึงสี่เส้นทาง ได้แก่ เ้ส้่นทางไปคลองแสนแสบ กทม, เส้นทางไป อ.บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา, ยาวเลยไปจนถึง อ.องครักษ์ ปทุมธานี, เส้นทางไป ตลาดคลองสวน 100ปี – คลองด่าน สมุทรปราการ และเส้นทางสุดท้ายคือ ลำคลองนครเนื่องเขตเอง

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.

ปัจจุบันตลาดโบราณนครเนื่องเขต ได้รับการอนุรักษ์จากเทศบาลเนื่องเขตให้เป็นตลาดโบราณ ซึ่งมีอายุมากกว่า 130 ปี และจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกหนึ่งแห่งของฉะเชิงเทรา ภายในตลาดสามารถเดินชมร้านค้าที่มีทั้งร้านค้ารุ่นเก่า และร้านค้ารุ่นใหม่ได้ทั้งสองฝั่งคลอง เพียงแค่เดินผ่านสะพานไม้ข้ามไปอีกฝั่งเท่านั้น

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.

บางร้านมีการนำของเก่าที่เก็บไว้ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากมาประดับตกแต่งร้าน ทำให้เข้ากับบรรยากาศตลาดโบราณ และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก นอกจากการเดินชมร้านรวงต่างๆ และบ้านเรือนที่ยังคงสภาพเดิมอยู่มากแล้ว ยังสามารถสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของที่ตลาดแห่งนี้ ได้ถึง 2 แห่งด้วยกันคือ “ศาลเจ้าไท่จือเอี๊ยะ” และ “ศาลเจ้าปุนเถ้ากง”

.

และนอกจาก 2 ศาลเจ้านี้แล้ว ยังมี “ต้นไกร” อายุมากกว่า 100 ปี ที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านแถบนั้นอีกด้วย

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.
เดินเล่นริมสองฝั่งคลอง หากเหนื่อยนักสามารถนั่งพักรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือได้ ที่ท่าน้ำ ราคาแค่ 10 บาทเท่านั้น ทั้งรสชาติและปริมาณคุ้มราคามาก และบริเวณท่าน้ำนี้ ทางเทศบาลได้จัดไว้อย่างดี และกว้างขวาง นักท่องเที่ยวนั่งรับประทานอาหารได้อย่างสะดวกสบาย

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.

หรือใครที่ชอบรับประทานก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก็เดินข้ามฝั่งไปอีกนิดจะพบกับ “ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดแป๊ะซัว” ซึ่งขอบอกว่าหากตัดสินใจช้า แค่เดินย้อนกลับมาอีกครั้ง อาจไม่มีก๋วยเตี๋ยวเหลือแล้วก็ได้ เพราะของเค้าขายดีจริงๆ

.

นอกจากก๋วยเตี๋ยวแล้ว ยังมีอาหารอีกหลายอย่าง เช่น กุ้งอบวุ้นเส้น, ผัดไท, ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ, แกงมัสมั่นคุณยาย แห่งร้านบ้านทนาย ฯลฯ แต่ถ้าเป็นของกินเล่น ของฝาก ขอแนะนำ ขนมกุยช่ายของร้านเจ้กรุง เพราะว่ากุยช่ายของป้าเค้าแป้งบางและนุ่ม รวมทั้งน้ำจิ้มอร่อยมาก หรือจะเป็นซาลาเปาลูกใหญ่ๆ แต่ราคาแค่ 5 บาทเท่านั้น และขอบอกว่าแป้งซาลาเปานิ่มมาก

.

ยังมีขนมอื่นๆ อีกเช่น หมูสะเต๊ะ, ขนมกล้วย, ขนมใส่ไส้ ฯลฯ และที่ประทับใจอีกอย่างคือ ราคาอาหารของที่นี่ไม่แพง เหมาะสมกับคุณภาพ แต่ปริมาณล้นปรี่จริงๆค่ะ (บางร้านให้เยอะมาก) ซึ่งถ้าพ่อค้าแม่ขายที่นี่ยังยึดหลักนี้ต่อไป ไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาจนมากเกิน รับรองได้ว่าจุดนี้ จะเป็นจุดขายอีกอย่างที่สำคัญของตลาดโบราณแห่งนี้

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.

หลังจากเดินเล่นเพลิดเพลิน อยู่ริมคลองทั้งสองฝั่งตลาดแล้ว ที่นี่ยังมีบริการ”ล่องเรือชมคลอง” ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ท่าน้ำค่ะ ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.

เส้นทางการล่องเรือชมคลองนี้ จะทำให้นักท่องเที่ยว ได้สัมผัสกับชีวิตชนบทริมสองฝั่งคลองอย่างใกล้ชิด และได้เห็นการดำเนินชีวิตของผู้คนแถวนี้ ซึ่งยังอาศัยน้ำในคลองเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

.

หลังจากนั่งเรือชมคลอง และชมวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งคลองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโซนที่เรายังไม่ได้ไปชมกัน ว่าแล้วก็ตามมาเลยค่ะ เดี๋ยวจะพาไปดูว่าเค้ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

โซนที่ว่านั้นมีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ส่วนอื่นในตลาดเลยนั่นคือ พิพิธภัณฑ์คลองนครเนื่องเขต ภายในเป็นห้องแถวไม้มีการจัดแสดงเรื่องราว และประวัติของชุมชนชาวคลองเนื่องเขตแห่งนี้ไว้

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

ห้องแถวแห่งนี้ เราได้รับการบอกเล่าจาก”คุณนุช” (เลขาฯ นายกเทศบาลเนื่องเขต) ไกด์กิตติมศักดิ์ของเรา ว่าสถานที่แห่งนี้เมื่อก่อนคือการไฟฟ้า และเป็นที่ขายน้ำมันอีกด้วย ซึ่งถ้าเข้าไปข้างในจะเห็นป้ายน้ำมัน “เอสโซ่” และป้าย”การไฟฟ้าเนื่องเขต” เมื่อเห็นสภาพป้ายแล้วรู้เลยค่ะว่าโบราณจริงๆ

ความสำคัญของห้องแถวนี้ไม่ได้หยุดแค่เพียงอดีต เพราะปัจจุบันที่แห่งนี้ได้เก็บรวบรวมเรื่องราว และประวัติของชุมชนแห่งนี้ไว้ รวมทั้งของเก่าเก็บอีกมากมาย ที่บ่งบอกได้ว่าอดีตของชุมชนแห่งนี้เคยมีความเป็นมาอย่างไร

.

และสุดท้ายของการท่องเที่ยวในแต่ละแห่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือของฝาก และที่นี่ก็เช่นกัน มีของฝากตามกระแสที่ฮอตฮิต อย่าง โปสการ์ด แมกเนต และเสื้อยืด

.

และขอขอบคุณ คุณนุชและคุณแม่ (พี่แสง) สายวานิณชย์ เป็นสองแม่ลูกที่น่ารักมากค่ะ ที่พานำเที่ยวทุกซอกทุกมุมของตลาดโบราณเนื่องเขตแห่งนี้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่แน่นปึ้กก่อนใคร กับเว็บไซต์ สวัสดีแปดริ้วดอทคอม.. ขอบคุณจากใจจริงค่ะ

ตลาดโบราณนครเนื่องเขต

.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เทศบาลตำบลนครเนื่องเขต โทร.038-814444
สำหรับเส้นทางการเดินทางมาที่ตลาดโบราณเนื่องเขตนี้ไม่ยากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถโดยสารประจำทาง
.
แผนที่ การเดินทาง
ตลาดโบราณนครเนื่องเขต
ตำบลคลองนครเนื่องเขต อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา 24000
https://goo.gl/maps/GjcPXMGY9EEqFXf47
.
การเดินทางจาก กทม.ไปตลาดโบราณเนื่องเขต : รถยนต์ส่วนตัว
• ใช้เส้นทางสาย กรุงเทพฯ-มีนบุรี-สุวินทวงศ์-ฉะเชิงเทรา
• เมื่อพ้นเขตสุวินทวงศ์แล้วให้สังเกตุด้านซ้ายมือ จะมีป้ายตลาดโบราณเนื่องเขต บอกอยู่ริมทางเป็นระยะ
• และเมื่อถึงทางเข้าแล้ว จะเห็นป้ายบอกอันใหญ่สังเกตง่ายว่าถึงแล้วค่ะ
.

การเดินทางจาก กทม.ไปตลาดโบราณเนื่องเขต : รถประจำทาง
• หมอชิต2 : รถทัวร์ สาย 54 กรุงเทพฯ(หมอชิต2)-ฉะเชิงเทรา, สาย บางเขน-รามอินทรา-มีนบุรี
• หมอชิต2 : รถทัวร์ สาย 907 กรุงเทพฯ(หมอชิต2)-ฉะเชิงเทรา, สาย ลาดพร้าว-บางกะปิ-มีนบุรี
• ปัจจุบันมีรถตู้ร่วมให้บริการในเส้นทางนี้แล้วค่ะ
• ในการใช้บริการรถโดยสารทั้งรถตู้และรถทัวร์ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะลงตรงไหน ก็แอบกระซิบกระเป๋ารถไว้นิดนึงนะคะว่า “ถึงตลาดโบราณเนื่องเขตแล้วให้จอดด้วยค่ะ”


หน้าแรก | เทียวแปดริ้ว | เที่ยวเชิงเกษตร เที่ยวธรรมชาติตลาดโบราณวัด

%d bloggers like this: