fbpx

มิวเซียมสยาม (Museum Siam)

มิวเซียมสยาม

พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้

เมื่อก่อนเคยคิดว่าการเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องของเด็กๆเค้าทำกัน แต่ความคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อได้รู้จักกับ “มิวเซียมสยาม” แห่งนี้ ความคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันหนึ่ง ขณะนั่งชมรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง ที่นำไปยังสถานที่แห่งนี้ แรกๆก็ชมเพียงผ่านๆไม่ได้สนใจอะไรมากนัก แต่เมื่อพิธีกรรายการได้นำไปชมยังห้องจัดแสดงต่างๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าการไปพิพิธภัณฑ์ คงไม่ใช่เรื่องของเด็กๆอีกต่อไปแล้ว

และเช้าวันนี้ฉันได้มีโอกาสมายืนอยู่ที่นี่จนได้ี่ “มิวเซียมสยาม” เมื่อแรกมาถึงฉันรู้สึกชื่นชมในความสวยงาม และสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร ภายนอกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมองแล้วทำให้รู้สึกถึงความเก่าแก่และล้ำค่า แต่ก็แฝงไว้ด้วยความงามอย่างเป็นเอกลักษณ์ และเมื่อเดินเข้าไปข้างในก็พบกับเครื่องปรับอากาศที่เย็นฉ่ำ ทำให้ความร้อนของอากาศข้างนอกบรรเทาลงไปในทันที

ที่บริเวณชั้นหนึ่งของตัวอาคารนี้ ฉันได้พบกับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งบริเวณนี้มีการออกแบบและตกแต่งอย่างทันสมัย แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ทั่วไป และเมื่อได้รับสติกเกอร์ติดเพื่อแสดงตนว่าเป็นผู้เข้าชมแล้ว ฉันจึงได้เดินดูรอบๆบริเวณก่อนซึ่งบริเวณชั้น 1 นี้ได้มีการจัดเป็นห้องจัดแสดงความเป็นมาของอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม การบูรณะซ่อมแซม รวมถึงการกลายเป็นมิวเซียมสยามในปัจจุบัน เรียกห้องนี้ว่า “ตึกเก่าเล่าเรื่อง” ด้วยเหตุที่ว่าตึกที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามนั้น เป็นตึกเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเคยเป็นกระทรวงพาณิชย์มาก่อน อีกทั้งยังมีสถาปัตยกรรมที่งดงาม ยังมีพระรูปของ “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ” ต้นสกุลกิติยากร ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก ในปี พ.ศ.2463

ต่อจากนั้นฉันจึงได้เดินต่อไปที่ “ห้องเบิกโรง” ซึ่งอยู่ในบริเวณชั้น 1 เช่นเดียวกัน ซึ่งเบิกโรงนี้จัดเป็นห้องฉายภาพยนตร์สั้น เพื่อนำเข้าสู่การชมมิวเซียมสยาม ผ่านตัวละครต่างๆทั้งหมด 7 ตัวละครด้วยกันซึ่งตัวละครทั้ง 7ตัวนี้ สามารถเรียงร้อยเรื่องราว พาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิด ตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิมาจนถึงการเป็นประเทศไทย

เมื่อจบการฉายภาพยนตร์สั้นแล้ว ห้องต่อไปที่เราได้ไปชม คือ “ไทยแท้” ห้องแสดงวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของไทย พร้อมการไขปัญหาว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นของไทยแท้หรือไม่ ซึ่งห้องนี้มีการนำหุ่นขี้ผึ้งจำลองสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความเชื่อของคนไทยที่เราสามารถพบเห็นได้ อาทิเช่น แม่้ค้าหาบเร่, ศาลพระภูมิเจ้าที่, รถเข็นขายส้มตำริมทาง หรือแม้แต่การจำลองการละเล่นในงานวัด และที่เป็นไฮไลท์ของห้องนี้ คือการนำรถตุ๊กๆของจริงมาแสดงโชว์ในห้องอีกด้วย

จากนั้นไปที่ห้อง “เปิดตำนานสุวรรณภูมิ” จัดแสดงที่ตั้งของดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิชาติพันธุ์ในดินแดนนี้ และวิธีการขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ ก่อนที่จะมาเป็นบรรพบุรุษของชาวสุวรรณภูมิ ซึ่ง “สุวรรณภูมิ” นั้นก็คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อ 3,000 ปีก่อน ใช้เรียกดินแดนแห่งความมั่งคั่งทางทิศตะวันออกของอินเดีย เปรียบเสมือนแผ่นดินทอง ซึ่งมีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์

“สุวรรณภูมิ” คือชื่อที่ใช้เรียกห้องถัดมา เป็นห้องจัดแสดงความเป็นอยู่ของผู้คนในสุวรรณภูมิ การติดต่อกับต่างประเทศ และหลักฐานประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ ทำให้ฉันได้รู้จักสุวรรณภูมิผ่านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การทำการเกษตร การค้าขาย การสร้างบ้านสร้างเมือง การนำโลหะมาใช้ และความเชื่อเรื่องผี การนับถือพราหมณ์ และพุทธในสมัยนั้น

เมื่อเรารู้จักกับสุวรรณภูมิดีพอแล้ว ต่อมาฉันได้พบกับ “พุทธิปัญญา” ห้องแสดงหัวใจพระพุทธศาสนาและเรื่องราวที่แสดงถึงสัจจธรรม ถัดจากห้อง พุทธิปัญญาก็จะพบกับ “กำเนิดสยามประเทศ” ห้องที่แสดงเรื่องราวความเป็นมา อาณาจักรต่างๆในดินแดนสยาม และตำนานต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา

เพือนๆลองสังเกตุดูี่ ที่นี่จะไม่กล่าวถึงว่าประเทศไทยเริ่มจากกรุงสุโขทัย จากนั้นมาเป็นอยุธยา กรุงธนบุรี แล้วจึงกลายมาเป็นกรุงเทพฯ เหมือนสมัยที่เราเรียนวิชาสังคมในชั้นเรียนประถม แต่จะพูดถึงการรวมตัวของแว่นแคว้นเล็กใหญ่ต่างๆที่กระจัดกระจาย บ้างก็หันมารวมตัวกันเพื่อความอยู่รอด จนกระทั่งมีพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น และรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆเหล่านั้นให้เป็นแผ่นดินเดียวกัน

ฉันได้รับรู้เรื่องราวของการถือกำเนิดอยุธยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถัดมา ฉันได้พบกับความรุ่งเรื่องของบ้านเมืองในสมัยต่อมาที่ “สยามประเทศ” ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยอยุธยา และรูปจำลองเรือแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรือแบบชาวบ้านจนถึงเรือพระราชพิธี และยังมีการจำลองให้เห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้สยามประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการค้า และทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายในหลายๆด้าน สิ่งที่ดึงดูดทุกสายตาในห้องนี้ก็คือกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ที่ถือพระราชสัญลักษณ์แห่งสมมุติเทวราชของกรุงศรีอยุธยา แขวนลอยไว้อย่างสวยงามกลางห้อง

เมื่อบ้านเมืองเจริญและมั่งคั่งไปด้วยการค้าขาย แน่นอนย่อมเป็นที่หมายปองของเมืองต่างๆในบริเวณใกล้เคียง ที่ต้องการจะครอบครองสยามประเทศ และอาจเป็นชนวนของการเกิดสงคราม “สยามยุทธ์” ห้องแสดงรูปแบบการรบ กำลังพล และการทำสงครามในสมัยอยุธยา เพื่อแสดงสิทธิ์เหนืออาณาจักรอื่น และเพื่อกวาดต้อนคนไปเป็นแรงงานทาสไปใช้แรงงาน อีกทั้งเพื่อครอบครองทรัพย์สินมีค่าของเมืองอื่น และที่ห้องนียังสามารถชมเรื่องราวการต่อสู้ได้ นอกจากการสู้รบแบบใช้กำลังและอาวุธแล้ว ยังมีการแสดงให้เห็นถึงการนำตำรายุทธพิชัยสงครามมาใช้ในการทำศึกอีกด้วย

เมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทำศึกและศึกษาในตำราุทธพิชัยสงครามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการก่อกำเนิดและ แสดงให้ทั้งโลกรับรู้ว่ามีสยามประเทศอยู่บนโลกใบนี้คือ “แผนที่ : ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ” ห้องแสดงแผนที่ประเทศไทยในสมัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงต้นกำเนิดของแผนที่ สิ่งที่ใช้แสดงว่าประเทศต่างๆมีอนาเขตกว้างใหญ่เพียงใดและการจับจองเป็นเจ้าของอนาเขตนั้นๆ แม้ว่าบนผืนแผ่นดินตามธรรมชาตินั้นไม่ได้ขีดเส้นเขตแดนได้เอง แต่ด้วยสติปัญญาของคนจึงทำให้เกิดการแบ่งเขตปักแดน และทำให้เกิดเป็นประเทศได้ชัดเจนอย่างทุกวันนี้

ความเจริญรุ่งเรืองเมื่อถึงขีดสูงย่อมเป็นธรรมดาที่ต้องถึงคราวซบเซา เมื่อถูกข้าศึกรุกรานจนบ้านเมืองแตกแยก เมื่อถึงคราวต้องสิ้นกรุงศรีอยุธยา หลังจากกอบกู้บานเมืองได้ พระเจ้าตากสินฯจึงเริ่มตั้งกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในราชวงศ์จักรี เรื่องราวการอพยพของคนชาติต่างๆในสยาม และการเปรียบเทียบว่ากรุงรัตนโกสินทร์เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาอย่างไร คุณสามารถหาคำตอบได้ที่ “กรุงเทพฯใต้ฉากอยุธยา”

“ชีวิตนอกกรุงเทพฯ” ห้องแสดงวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทนอกกรุงเทพฯ โดยมีเรื่องข้าวเป็นตัวชูโรงสำหรับห้องนี้ รวมทั้งยังมีเครื่องมือทำมาหากินต่างๆที่เด็กรุ่นหลังๆอาจไม่เคยเห็นอย่างอุปรณ์ที่ใช้ในการดักจับสัตว์น้ำ การทำการเกษตรแบบดั้งเดิม หรือแม้แต่ความเชื่อของคนโบราณเกี่่ยวกับการบวงสรวงต่างๆเพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามดีเป็นต้น

เมื่อโลกยังคงหมุนเปลี่ยนไปทุกวัน การเปลี่ยนแปลงย่อมถือเป็นสิ่งที่เกิดขึนได้ทุกเวลาเช่นกัน เมื่อความเจริญและอารยธรรมตะวันตกเผยแพร่เข้ามาในสยามประเทศ การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น “แปลงโฉมสยามประเทศ” ห้องแสดงการเปลี่ยนแปลงสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 และเรื่องราวของถนนเจริญกรุง “เมื่อมีถนน ความเจริญก็ตามมา” จะเป็นอย่างไรเมื่อคนไทยหันมานิยมใช้ถนนหนทางมากขึ้นแทนการใช้เรือตามแม่น้ำลำคลองเช่นเคย และเมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งจากการเปลี่ยนจาก “สยาม” เป็น”ประเทศไทย” คำตอบมีรอคุณอยู่แล้วที่ห้อง”กำเนิดประเทศไทย” ทั้งนี้ยังแสดงเรื่องราวในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

และเมื่อถึงคราวที่โลกทั้งโลกต้องตื่นตัวขึ้นอีกครั้งด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อจบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 วัฒนธรรมชาวตะวันตกก็แพร่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้เมืองบางกอกในสมัยนั้นเต็มไปด้วยสีสันทั่วทั้งเมือง ที่ห้อง “สีสันตะวันตก” ห้องแสดงวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย จะได้พบกับการจำลองบ้านเมืองช่วงปี 1940 ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองและประชาชนกำลังมีความสุขจากการรับสิ่งแปลกใหม่จากชาติตะวันตก มีเสียงเพลงแห่งความหวัง กล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปได้ชั่วขณะ ประเทศไทยเองก็เปิดกว้างที่จะรับเอาวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเหล่านั้น เข้ามาเพื่อบ่งบอกว่านี่แหละคือความศิวิไล

เสร็จสิ้นจากการรับรู้และเลียนแบบวัฒนธรรมของชาวตะวันตกแล้ว ก็มาถึงคิวของ “เมืองไทยวันนี้” ห้องอุโมงค์กระจกขนาดใหญ่ มีโทรทัศน์ขนาดเล็กรายล้อมทั่วห้อง ที่บ่งบอกว่าเมืองไทยวันนี้เป็นอย่างไร ให้คุณได้ดูและคิดตามว่าเมืองไทยวันนี้เป็นอย่างที่คนไทยควรจะเป็นหรือไม่

ปิดท้ายกันที่ห้องสุดท้าย “มองไปข้างหน้า” ห้องนี้เป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าชมอย่างมาก เพราะเป็นห้องสำหรับแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าชม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แสดงข้อความบนผนัง จะมีปากกาดิจิตอลให้เราเขียนบอกความคิดของเรา ถ้าลองนึกทบทวนดุดีๆการที่ตั้งชื่อห้องว่ามองไปข้างหน้า เป็นการเตือนสติแก่เราว่าอนาคตประเทศไทย แท้จริงอยู่ในมือของคนรุ่นปัจจุบัน ที่เป็นกำลังสำคัญของอนาคตของชาติต่อไป.

แม้ว่าการเดินชมจะมาสิ้นสุดตรงห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ความประทับใจในสิ่งที่ได้พบเห็น และได้เรียนรู้จากสถานที่แห่งนี้มีคุณค่ามากมายนัก และต่อไปนี้ฉันคงกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า การมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นเรื่องของเด็กๆอีกต่อไป.
…………………………………..

ข้อมูลเพิ่มเติม

Discovery Museum
เป็นพิพิธภัณฑสถานแนวใหม่ในยุคแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ เน้นกระตุกต่อมคิด จุดประกายความอยากรู้สู่การค้นพบความคิดใหม่ๆ ด้วยตนเองตลอดเวลาอย่างไม่รู้ตัว เพื่อการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ

พื้นที่เกือบ 3,000 ตารางเมตรในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย” เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องอันยาวนาน ผู้ชมจะได้ เรียน เล่น รู้ กับปริศนาหลายหมื่นหลายพันปีของสุวรรณภูมิ มูลเหตุสู่ยุคทองของสยามประเทศ และเงื่อนปมก่อนจะมาเป็นประเทศไทยอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อค้นหาคำตอบสำคัญว่า “เราคือใคร” และ “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร”

และพื้นที่เกือบ 300 ตารางเมตรในอาคารนิทรรศการชั่วคราว จะผลัดเปลี่ยนหัวข้อการเรียนรู้ให้ผู้เข้าชมได้ตื่นตาตื่นใจ สนุกเรียนสนุกรู้ไปกับประเด็นใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ภูมิปัญญา ฯลฯ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังมีพื้นที่ให้บริการเพื่อต่อยอดความรู้และสร้างสรรค์กิจกรรมมากมาย ตอบสนองกลุ่มผู้เช้าชมที่แตกต่างและหลากหลาย

มิวเซียมสยาม หรือ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ 
เปิดให้บริการเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ. 2551 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบโต้ตอบโดยใช้ตัวละคร 7 ตัวเป็นตัวกลาง มิวเซียมสยามดูแลโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

สถานที่ตั้ง
พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม ตั้งอยู่ที่ ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ (กระทรวงพาณิชย์เดิม ตรงข้ามโรงเรียนวัดราชบพิธ)
เปิดให้เข้าชมฟรี (ในระยะเริ่มแรก) ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ในเวลา 09.30-18.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2622-2599

พื้นที่จัดแสดง
อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิมภายในมิวเซียมสยามเป็นอาคาร 3 ชั้น มีห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งหมด 17 ห้อง ภายใต้หัวข้อ “เรียงความประเทศไทย”
ในการเข้าชมมิวเซียมสยามนั้น ทางพิพิธภัณฑ์จะให้เริ่มชมจากชั้น 1 ต่อไปยังชั้น 3 และลงมาสิ้นสุดที่ชั้น 2 บทความนี้จะลำดับความตามลำดับการชม

ชั้น 1
>> ตึกเก่าเล่าเรื่อง ห้องจัดแสดงความเป็นมาของอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม การบูรณะซ่อมแซม รวมถึงการกลายเป็นมิวเซียมสยามในปัจจุบัน
>> เบิกโรง ห้องฉายภาพยนตร์สั้นเพื่อนำเข้าสู่การชมมิวเซียมสยาม ผ่านตัวละครต่าง ๆ
>> ไทยแท้ ห้องแสดงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของไทย พร้อมการไขว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นของไทยแท้หรือไม่

ชั้น 3
>> เปิดตำนานสุวรรณภูมิ ห้องจัดแสดงที่ตั้งของดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ชาติพันธุ์ในดินแดนนี้ และวิธีการขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
>> สุวรรณภูมิ ห้องจัดแสดงความเป็นอยู่ของผู้คนในสุวรรณภูมิ การติดต่อกับต่างประเทศ และหลักฐานประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ
>> พุทธิปัญญา ห้องแสดงหัวใจพระพุทธศาสนาและเรื่องราวที่แสดงถึงสัจจธรรม
>> กำเนิดสยามประเทศ ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นมาอาณาจักรต่าง ๆ ในดินแดนสยาม และตำนานต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา
>> สยามประเทศ ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยอยุธยา และรูปจำลองเรือแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรือพื้นบ้านถึงเรือพระราชพิธี
>> สยามยุทธ์ ห้องแสดงรูปแบบการรบ กำลังพล และการทำสงครามในสมัยอยุธยา

ชั้น 2
>> แผนที่:  ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ ห้องแสดงแผนที่ประเทศไทยในสมัยต่าง ๆ
>> กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา ห้องแสดงเรื่องราวเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา เริ่มตั้งกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ การอพยพของคนชาติต่างๆ ในสยาม และการเปรียบเทียบว่ากรุงรัตนโกสินทร์เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาอย่างไร
>> ชีวิตนอกกรุงเทพฯ ห้องแสดงวิถีชีวิตของคนในชนบทนอกกรุงเทพฯ โดยมีเรื่องข้าวเป็นหลัก
>> แปลงโฉมสยามประเทศ ห้องแสดงการเปลี่ยนแปลงสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และเรื่องราวของถนนเจริญกรุง
>> กำเนิดประเทศไทย ห้องแสดงเรื่องราวในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
>> สีสันตะวันตก ห้องแสดงวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย
>> เมืองไทยวันนี้ ห้องอุโมงค์กระจกขนาดใหญ่ มีโทรทัศน์ขนาดเล็กรายล้อมทั่วห้อง
>> มองไปข้างหน้า ห้องสำหรับแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าชม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แสดงข้อความบนผนัง

การเดินทาง
พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ตั้งอยู่ที่ถนนสนามไชย บริเวณท่าเตียน ติดกับ สน.พระราชวัง หากขับรถส่วนตัวมา ใช้เส้นทางจากถนนราชดำเนินผ่านหน้ากระทรวงกลาโหม สวนสราญรมย์ด้านซ้ายมือ จะเห็นป้ายบอกทางรูปคนสีแดงตามถนนสนามไชยไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ด้านขวามือ

รถประจำทางที่ผ่าน : สาย 3, 6, 9, 12, 32, 44, 47, 53, 82,524
เรือ : เรือข้ามฟากหรือเรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นจากเรือที่ท่าเตียนแล้วเดินมาทางซ้ายมือผ่านวัดโพธิ์และโรงเรียนตั้งตรงจิตรพาณิชยการ มายังพิพิธภัณฑ์

สิ่งอำนวยความสะดวก ลานจอดรถ ร้านอาหารเครื่องดื่ม ร้านขายของที่ระลึก รถเข็นคนพิการ

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ สวนสราญรมย์ ปากคลองตลาด

website: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ: National Discovery Museum Institute www.ndmi.or.th

จัดทำโดย : ทีมงานสวัสดีแปดริ้ว.คอม เรียบเรียงบทความ และถ่ายภาพ

%d bloggers like this: